โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปี 2566

184 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปี ๒๕๖๖

หลักการและเหตุผล
ด้วยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ทุกประเทศกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป ซึ่งในประเทศไทย จะดำเนินการให้สำเร็จได้จำเป็นต้องมีการบูรณาการจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพันธกิจของแต่ละหน่วยงานในการป้องกันพิษสุนัขบ้า และเพื่อให้ดำเนินการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้ามีผลสำเร็จและยั่งยืน จึงได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและสัตว์ ตามเป้าหมายที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป แผนงานสาธารณสุข สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์ จึงเสนอจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปี ๒๕๖๖ ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยมีแนวทางดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมอาสาสมัครจากชุมชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องจัดการให้สัตว์ควบคุมทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานในเขตพื้นที่(สำนักงานปศุสัตว์อำเภอไทรโยค) เพื่อขอรับการสนับสนุนวิทยากรและคู่มือชุดความรู้สำหรับใช้ประกอบการฝึกอบรม และขับเคลื่อนฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ควบคุมที่ขึ้นทะเบียนตามข้อมูลสำรวจรอบที่ ๑

๑.  กิจกรรมที่ดำเนินการ

๑.๑ ดำเนินการจัดฝึกอบรมผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีน

๑.๒ ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

๒.  วัน  เวลา  และสถานที่ดำเนินการ

ดำเนินการฝึกอบรมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์ จำนวน ๒๐ ราย

ดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านในเขตพื้นที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน ๖ หมู่บ้าน ระหว่าง วันที่  ๒๒ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ๒๕๖๖ ตั้งแต่เวลา
๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.

๓.  ตั้งงบประมาณที่ดำเนินการ รวมทั้งสิ้นจำนวน  ๒๐,๐๐๐  บาท  ประกอบด้วย

ตั้งงบประมาณ ในข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์ เรื่อง งบประมาณรายจ่าย ประจำปี ๒๕๖๖  แผนงานสาธารณสุข งานบริการสาธารณสุขและงานสาธารณสุขอื่น งบดำเนินงาน ค่าใช้สอย โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท

๔.  ผลการดำเนินงานคล้องกับงาน

*  ยุทธศาสตร์ชาติ๒๐ปี /ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง

*  ยุทธศาสตร์จังหวัด /ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสังคม

*  แผนพัฒนาท้องถิ่น /พัฒนาคุณภาพชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน

*  จำแนกงบประมาณด้าน/สาธารณสุข   แผนงาน/สาธารณสุข

ผลที่คาดว่าจะได้รับ(ตัวบ่งชี้)

๑) ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันและเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าและเป็นอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีนในชุมชนได้

๒) พื้นที่มีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชน


ตัวชี้วัด        

๑) มีอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีนจากชุมชนเข้าร่วมดำเนินการตามกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในตนเองและชุมชน

๒) ข้อมูลสัตว์ควบคุมในพื้นที่ที่รับวัคซีน เพื่อประเมินความปลอดภัยในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชนในพื้นที่

๕. ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน

๕.๑ การจัดฝึกอบรมผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีน

หน่วยงานปศุสัตว์อำเภอไทรโยค จัดฝึกอบรมให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการฉีดวัคซีน
มีตัวแทนประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เข้าร่วมอบรม รวมทั้งสิ้น ๒๖ คน เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม
๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ที่ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

๕.๒ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์ ได้ดำเนินงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตามข้อมูลสำรวจสุนัขและแมวในพื้นที่ตำบลสิงห์ ประจำปี ๒๕๖๖ รอบที่ ๑  จำนวน ๑,๙๐๐ ตัว  โดยมีสัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนรวมทั้งสิ้น ๑,๘๐๐ ตัว คิดเป็นร้อยละ ๙๔.๗๔ ของข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด มีวัคซีนเสียหายระหว่างดำเนินการ จำนวน ๕๐ โด๊ส คงเหลือวัคซีนทั้งสิ้น ๒๐๐ โด๊ส รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้าย

๖.  ปัญหา / อุปสรรค

๖.๑ สัตว์เลี้ยงที่ขอขึ้นทะเบียนรับวัคซีนไม่ครบทุกตัว เนื่องจากมีสัตว์เลี้ยงบางส่วนที่เจ้าของไม่สามารถจับได้และเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางส่วนไม่สะดวกนำสุนัขและแมวมารับวัคซีนตามช่วงเวลาที่กำหนดตามประกาศได้

๖.๒ ในระหว่างการปฏิบัติงานพบว่า มีสัตว์เลี้ยงบางตัว ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่สามารถจับให้สัตว์อยู่นิ่งได้ในขณะฉีดวัคซีน ทำให้เกิดการสูญเสียวัคซีนได้

๗.  ผลการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานโครงการในปีที่ผ่านมา

๗.๑ มีประชาชนที่ไม่สะดวกรับวัคซีนในวันและเวลาที่ประกาศ ติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการดังกล่าว ภายใน ๗ วัน นับจากวันที่ประกาศกำหนดรณรงค์ฉีดวัคซีน หรือก่อนเริ่มเข้าดำเนินการในพื้นที่ของผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อยืนยันสิทธิการขอรับวัคซีนตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และนำสัตว์เลี้ยงมารับวัคซีนตามที่นัดหมาย

๗.๒ สุนัขและแมวในพื้นที่ที่ได้สำรวจมีเกิดและตายเพิ่มขึ้นหลังจากที่สำรวจ คณะทำงานจึงดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีการฉีดวัคซีน โดยฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนที่ยังคงอยู่ และสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสามารถจับให้เจ้าหน้าที่ได้ เพื่อทดแทนสัตว์เลี้ยงที่สูญหายและตายหลังจากขึ้นทะเบียน และเพื่อให้การรณรงค์เป็นไปได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่รวมถึงสามารถใช้วัคซีนและงบประมาณได้อย่างคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ต่อไป

๘. ข้อเสนอแนะในการนำไปแก้ปัญหา และพัฒนาปรับปรุงงานในอนาคต

๘.๑ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้สามารถดำเนินการได้ตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ ได้แก่ สวิงจับบังคับสำหรับสุนัขและแมวที่ไม่สามารถจับได้โดยตรง สัตว์ดุร้าย ไม่สามารถเข้าใกล้ตัวสัตว์ได้ และเจ้าของเองไม่สามารถจับตัวสัตว์ได้นั้น สามารถใช้สวิงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการจับบังคับสัตว์แทนได้ ช่วยให้สะดวกและเข้าถึงตัวสัตว์ในการดำเนินการฉีดวัคซีนได้ง่ายขึ้น โดยนำสวิงครอบตัวสัตว์ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถกระดุกกระดิกเคลื่อนตัวได้มากนักจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สามารถฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะถูกกัดหรือถูกข่วน

๘.๒ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษาคุณภาพวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ ปรอทแบบธรรมดา เครื่องวัด บันทึกอุณหภูมิ(data logger) และไอซ์แพ๊ค

ผู้รับผิดชอบโครงการ :
สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลสิงห์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้