หมู่1 บ้านปากกิเลน
นายสมมาตร์ พุมเรียง
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านปากกิเลน
บ้านปากกิเลน คำว่าปากกิเลนแต่เดิมนั้นเป็นชื่อเก่าแก่ที่คนมอญตั้งขึ้น เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า ปากเลน ซึ่งเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวมอญใช้เรียกกันแต่คนไทยจะเรียกว่าต้นสะเรียง เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ตามริมแม่น้ำ ปัจจุบันนั้นได้สูญพันธ์ไปแล้ว พื้นที่แต่เดิมของบ้านปากกิเลนนั้นเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่มืดครึ้มเต็มไปด้วยสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เช่น ช้างป่า เสือ งู และสัตว์ป่าอื่นๆมากมาย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการสร้างทางรถไฟขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางไปยังพม่า การสร้างสถานีรถไฟท่ากิเลนขึ้นมานั้นก็เพื่อใช้ในการเป็นสถานที่หยุดรถ ในพื้นที่สถานีรถไฟนั้นเดิมทีเป็นสถานที่พักของเชลยศึกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิเช่นชาวฮอลันดา มลายู อาหรับ อินเดีย ยวา เป็นต้น อาชีพดั้งเดิมของราษฎรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา และการชักไม้ หมู่บ้านปากกิเลนนั้นปัจจุบันมีการเรียกชื่อตามลักษณะพื้นที่ของที่อยู่อาศัยซึ่งแต่เดิมนั้นจะมีเพียงการเรียกเป็นคุ้มเดียว นั่นก็คือ คุ้มปากกิเลนแต่ภายหลังได้มีการแบ่งออกเป็น 8 คุ้ม คือ ไร่นอก ทุ่งคอก หมูดุด ท่ากิเลน วัดปาก บ้านท่าช้าง หาดแหลม และ ท่ามะกรูด
สภาพสังคมหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านดั้งเดิม อาศัยอยู่ตามแถบริมแม่น้ำแควน้อยและบริเวณวัดปากกิเลน
ประเพณีวัฒนธรรม มีการเล่นเพลงเหย่ยและเพลงอีแซว และตามเทศกาลทั่วๆไป ของชุมชนภาคกลาง เช่น เทศกาลลงแขก เทศกาลงานบุญ งานสงกรานต์ ปัจจุบันเทศกาลงานลงแขกได้หายไป
การละเล่น รำวงชาวบ้าน
ประชากร บ้านปากกิเลนประกอบไปด้วยประชากร จำนวน 287 ครัวเรือน มีสมาชิกทั้งหมด 1,274 คน แยกเป็น ชาย 627 คน หญิง 647 คน
** สถานที่สำคัญ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์(ปราสาทเมืองสิงห์) และ วัดปากกิเลน